การป้องกันแมวจากการติดเชื้อไข้หัดแมว

โรคหัดแมวนั้นเป็นหนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตน้องแมวตัวโปรดของคนทั่วโลกไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะเป็นโรคที่สามารถพบได้กับแมวทุกตระกูล ทั้งแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง รวมถึง สิงโต เสือ และแมวป่าชนิดต่าง ๆ ทั้งยังพบได้ในสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างสกั๊ง มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้จะทำให้แมวมีอาการเหมือนเป็นหวัดควบคู่กับอาการท้องเสีย ที่อาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้แมวเสียชีวิตได้เลยทีเดียว นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนที่เลี้ยงแมวจึงต้องทำความรู้จักกับโรคหัดแมวเอาไว้ เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันและดูแลน้องแมวตัวโปรดให้อยู่กับเราไปนานๆ นั่นเอง

โรคหัดแมวมีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคนี้มักพบในแมวที่อายุน้อยซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก ด้วยอาการของไข้หัดแมวมักจะส่งผลต่อการทรงตัวของลูกแมวและทำให้ลูกแมวตาบอดได้ สำหรับแมวโตนั้นก็สามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน โดยอาการที่พบคือซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ร่างกายขาดน้ำ บางครั้งอาจมีอาการเกร็ง ปวดช่องท้อง และพบลักษณะของลำไส้เกิดการหนาตัวเนื่องจากภายในมีแก๊สและของเหลว ซึ่งหลังจากการรักษา แมวที่หายจากโรคนี้ในระยะแรก จะยังสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวที่ตั้งท้องอาจทำให้เกิดการแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้

Play Video
Play Video
Play Video
Play Video

โรคหัดแมวสามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้หรือไม่?

การติดต่อของโรคนี้นั้นไม่สามารถติดจากแมวสู่คนได้ แต่จะสามารถติดต่อระหว่างแมวด้วยกันได้ ด้วยการสัมผัสแมวป่วย ทั้งสัมผัสจากอุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ รวมถึงภาชนะเครื่องใช้ของแมวป่วย และมนุษย์ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้จากการสัมผัสน้องแมวที่ป่วย และทำให้มีเชื้อติดอยู่ตามเสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ หากน้องแมวตัวอื่นๆ ได้มาสัมผัสก็อาจทำให้เกิดการติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเองได้

โรคหัดแมวจะมีระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 2-7 วัน เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน โดยแมวอายุน้อยมักตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% เมื่อตรวจเลือดมักจะพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “Feline Panleukopenia”

ไข้หัดแมวและวิธีรักษา

เมื่อพบความผิดปกติของน้องแมวตามอาการที่กล่าวมาเบื้องต้น ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะถ้าแมวมีอาการไม่กินอาหาร อาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนแรง ขาดน้ำ เสียสมดุลย์ของอิเล็คโตรไลท์ในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้อยู่ในสภาวะช็อกได้

แนวทางการรักษาโรคมักจะเป็นการรักษาตามอาการและพยุงอาการเพื่อให้น้องแมวสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารอาหารและน้ำเข้าทางหลอดเลือด (Fluid Therapy) รวมถึงให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนระหว่างการรักษา นอกจากนี้อาจมีการให้ยาระงับการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง การรักษาจึงทำเพื่อประคับประคองและพยุงอาการเท่านั้น

การป้องกันแมวจากการติดเชื้อไข้หัดแมว

การป้องกันการติดต่อจากแมวสู่แมวที่ดีคือต้องทำการแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ รวมถึงต้องทำความสะอาด ทำการฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์

ในส่วนของการป้องกันน้องแมวให้ห่างไกลจากโรคหัดแมวก็คือการพาน้องไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคหัดแมวหลายยี่ห้อ ยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย ซึ่งป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆ กัน สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเช่นกัน ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีบริการคลินิกสำหรับแมวเฉพาะด้าน มีห้องแมวและโซนPlaygroundสำหรับให้น้องแมวผ่อนคลาย และมีคุณหมอที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาแมว

บทความดีๆจาก สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ (หมอก้อย) โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขารามอินทรา

ปรึกษาปัญหาน้องแมว และสอบถามเกี่ยวกับสินค้า